โครงการวิจัยสร้างสรรค์ : Creative Research Proposal
เรื่อง การออกแบบพัฒนาแบบตัวพิมพ์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟ้อนต์ ตระกูลซีอาร์ยู
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประชิด ทิณบุตร ,2555
Title: The design and development of typeface and font computer program : CRU font family.
by Assistant Professor Prachid Tinnabutr , 2012
ความสำคัญและที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย
ตัวอักษร(Letters)คือสิ่งที่มนุษย์เราใช้เป็นสื่อสัญลักษณ์ทางการมองเห็น เพื่อให้เกิดการรับรู้และการแปลความหมายให้เกิดความเข้าใจร่วมกันอย่างเป็นระบบ(Visual communication Sign and symbol system) ดังที่ ประชิด ทิณบุตร (2530 : 29) ได้กล่าวถึงความหมายของตัวอักษร ไว้ในหนังสือชื่อ การออกแบบกราฟฟิค เอาไว้ว่า “ตัวอักษร ตัวหนังสือหรือตัวพิมพ์ คือเครื่องหมายที่ใช้แสดงความรู้สึกนึกคิดและความรู้ของมนุษย์ สามารถช่วยเผยแพร่ความรู้สึกนึกคิดและความรู้ดังกล่าวไปยังผู้อื่นได้ไกลๆ อีกทั้งยังคงรักษาความคิดและความรู้นั้นๆ ให้อยู่ได้นานถึงคนรุ่นหลัง”ตัวอักษร อักขระทางภาษา ข้อความข่าวสารและสัญลักษณ์ต่างๆ จึงได้ถูกคิดค้นออกแบบและจัดกระทำขึ้นมาอย่างเป็นระบบ เพื่อทำหน้าที่โดยพื้นฐานคือการให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสรรพสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นให้สื่อสารร่วมกัน อีกทั้งยังมีผลก่อให้เกิดคุณค่าความงามทางศิลปะและสุนทรียภาพทางจิตใจให้แก่มวลมนุษย์อีกด้วย ดังนั้นตัวอักษรจึงถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาเป็น รูปลักษณ์อักขระต่างๆอย่างหลากหลายรูปแบบ หลากหลายสื่อ ตามบริบทของการสื่อสาร ตามวิวัฒนาการทางนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองการสังคมของมนุษย์ ดังมีหลักฐานปรากฏนับตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์เป็นต้นมา โดยตัวอักษรได้ถูกนำมาใช้ในฐานะเป็นเครื่องมือของการสื่อสาร ปรากฏเป็นองค์ประกอบร่วมในสื่อการบันทึกทุกชนิด(Eliement and medium of records) ทั้งที่เป็นสื่อแสดงแทนองค์ประกอบด้านวัจนสัญลักษณ์และอวัจนสัญลักษณ์ (Verbal and non verbal language) กระทั่งทำให้เกิดวิวัฒนาการร่วมกันระหว่างศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์และศาสตร์ทางด้านศิลปกรรม(Art and Science) เฉพาะทางขึ้นมาโดยตรงนั่นก็คือ ศาสตร์แห่งการพิมพ์(Typhography)นั่นเอง ตัวอักษรจึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบหลักสำคัญของงานออกแบบกราฟิก และมักใช้เป็นหลักใหญ่ในการสื่อความหมาย ทั้งแบบโดยตรงคือเพื่อการใช้อ่านเขียนประกอบตามหลักไวยากรณ์ของแต่ละภาษา และใช้โดยอ้อมก็คือใช้เป็นคำย่อ ใช้แทนภาพ ใช้เป็นสื่อสัญลักษณ์แทนความหมายเฉพาะหรืออย่างหรือแทนความคิดแบบนามธรรมที่อาจจะมีความหมายหลากหลายเป็นปรนัยด้วยในตัว ปัจจุบันการใช้งานตัวอักษรนั้น มีความสัมพันธ์กับระบบสื่อสารและระบบสารสนเทศมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังจะเห็นว่ามีการออกแบบและผลิตแบบตัวอักษรเข้ามาใช้ร่วมเป็นภาษาหลักในระบบของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทราบกันดีทั่วไปว่าคือ ตัวอักขระภายในระบบคอมพิวเตอร์ (Computer System Font) เป็นส่วนควบที่จำเป็นต้องมี ทั้งนี้เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์คือเครื่องมือผลิตข่าวสารด้วยการพิมพ์อักขระเข้าสั่งการหรือการประมวลผลร่วมกับหน่วยประมวลผล ให้สามารถจัดเก็บ แสดงผลและค้นคืนได้นั่นเอง ตัวอักษรที่ติดตั้งในระบบคอมพิวเตอร์จึงได้รับความสำคัญด้วยการที่ต้องมีการออกแบบไว้ใช้งานและเพื่อสนองความต้องการด้านการนำไปใช้งานสื่อความหมายที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่ามีผลงานออกแบบชุดตัวอักษรคอมพิวเตอร์ตระกูลต่างๆของนักออกแบบอิสระ และผู้ผลิตแบบตัวอักษรในเชิงพาณิชย์เกิดขึ้นมาพร้อมกับมีการกำหนดลิขสิทธิ์ของการสร้างสรรค์ขึ้นมาแทนตัวหล่อ ตัวเรียงพิมพ์ด้วยมือหรือเรียงพิมพ์ด้วยแสงตามแบบเดิมตามมามากมาย ให้ใช้ตามสมรรถนะของหน่วยประมวลผลในเครื่องคอมพิวเตอร์และประสิทธิภาพของโปรแกรมระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ที่กำลังพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน แบบตัวอักษรต่างๆจึงได้รับความสำคัญแบบคู่ขนานจนกลายเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือเป็นส่วนควบของระบบปฏิบัติการหลัก(Operation System or OS program)ที่รู้จักกันดีเป็นสากลในนามของฟ้อนต์(Fonts)ที่ปรากฏเห็นและจัดเก็บแสดงอยู่ในไดเร็กทอรี่ของระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ด้วยนั่นเอง
จากความสำคัญของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟ้อนต์และลิขสิทธิ์แห่งการสร้างสรรค์ดังกล่าว กระทั่งทำให้เกิดข้อขัดแย้งทางสังคมในประเทศและระดับสากล นั่นคือความไม่ชัดเจนทางด้านกฏหมายการถือครองลิขสิทธิ์ของฟ้อนต์ที่ถูกติดตั้งมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ และด้านมาตรฐานการออกแบบตัวพิมพ์ของไทย หรือที่เรียกว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟ้อนต์เพื่อการติดตั้งใช้งานร่วมกับระบบปฏิบัติการต่างๆขึ้น ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) ได้จัดโครงการประกวดผลงานสร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟอนต์ขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟอนต์เพิ่มขึ้น เป็นการสร้างงาน สร้างทักษะ และสร้างตลาดทางด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและผู้บริโภคที่สามารถเลือกใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฟอนต์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบโครงการฟอนต์มาตรฐานราชการไทย โดยกำหนดให้ฟอนต์ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และกรมทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 13 ฟอนต์ โดยมติดังกล่าวได้เป็นผลในทางปฏิบัติในการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟ้อนต์ชื่อ TH Sarabun ไปใช้กับงานพิมพ์เอกสารมาตรฐานของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย และให้ดำเนินการใช้งานก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2553 เป็นต้นไป โดยในการนำไปใช้นั้นได้มีการกำหนดเงื่อนไขไว้เป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้(Font computer license agreement)แบบฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย(กรมทรัพย์สินทางปัญญา,2553:ออนไลน์) โดยที่ปัจจุบันนี้(2554)แบบตัวอักษรและตัวพิมพ์ชุดดังกล่าว ก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขและขยายใหม่เพิ่มเติมตามวาระของการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นเวอร์ชั่นใหม่โดยใช้ชื่อ TH SarabunNew โดยการนำเสนอและเผยแพร่ไว้ให้ดาวน์โหลดได้ทางระบบอินเตอร์เน็ต ที่สามารถเข้าใช้เข้าถึงได้ตลอดเวลา สามารถตอบโจทย์ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการจนกระทั่งได้รับการขนานนามว่าเป็น ฟ้อนต์แห่งชาติ ตราบทุกวันนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น