วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2558

ความสำคัญหรือจุดเด่นของผลงานวิจัยฟ้อนต์ ซีอาร์ยู

ความสำคัญหรือจุดเด่นของผลงานวิจัยฟ้อนต์ ซีอาร์ยู
เป็นงานวิจัยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากงบรายได้ ประจำปีงบประมาณ 2555 เป็นผลงานวิจัยพัฒนาทดลองด้านการออกแบบสร้างสรรค์แบบตัวอักษรตัวพิมพ์หรือรูปอักขระศิลป์(Glyph Image & Lettering Design) ทางด้านการพิมพ์(Typography) โดยบูรณาการความรู้ เทคนิควิธีทางการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Computer Programing) เพื่อให้ได้เป็นผลงานนวัตกรรมที่เรียกว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟ้อนต์ (Font Files) มีรูปลักษณ์ของแบบอักขระที่สื่อแสดงแทนความเป็นเอกลักษณ์ของ”ชาวราชภัฏ” โดยสื่อสารผ่านการใช้รูปแบบอัตลักษณ์เฉพาะของมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม ที่ตั้งชื่อแบบตัวพิมพ์ว่า ฟ้อนต์ตระกูล ซีอาร์ยู (CRU fonts family) รวมจำนวน 24 ฟ้อนต์ไฟล์ ได้แม่แบบชุดแบบตัวพิมพ์ที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มีคุณลักษณะเฉพาะของขนาด สัดส่วนโครงสร้างที่เป็นไปตามมาตรฐานตัวอักษรภาษาไทยและภาษาลาติน เป็นไฟล์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟ้อนต์ ที่มีชุดคำสั่งประกอบ(Scripts) เพื่อควบคุมการโปรแกรมการพิมพ์ตามรหัสกำกับอักขระมาตรฐานยูนิโค๊ดและตำแหน่งบนแป้นพิมพ์สากลแบบ QWERTY โดยมีการประกาศแจ้งสัญญาอนุญาตสิทธิ์แก่ผู้ใช้ (CRU Fonts Family End User License Agreement (CRU-EULA) เป็นเงื่อนไขการนำไปใช้งานส่วนบุคคล เพื่อการศึกษา การสื่อสารในองค์กรและในเชิงพาณิชย์ สามารถใช้เป็นข้อมูลนำแจ้งจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เป็นงานลิขสิทธิ์ประเภทงานวรรณกรรม ลักษณะงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อันเป็นกรรมสิทธิ์ของทางมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ที่เป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยครั้งนี้ รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 24 รายการ และในปี 2556 ผู้วิจัยได้นำแบบ CRU-LanChand56 ไปออกแบบพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เป็นฟ้อนต์ลิขสิทธิ์ชุดใหม่ โดยมีลิขสิทธิ์ร่วมจัดจำหน่าย กับบริษัท ดีบี ดี ไซน์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแบบฟ้อนต์ลิขสิทธิ์ ภายใต้แบรนด์ของฟ้อนต์ตระกูล DB Font โดยตั้งชื่อชุดฟ้อนต์ใหม่ว่า ดีบี บางพูด (DB BangPood X) มีจำนวน 4 รูปแบบคือ DB BangPood X, DB BangPood X Italic, DB BangPood X Bold, และ DB BangPood X Bold Italic ผลงานวิจัยที่ได้สร้างสรรค์พัฒนาขึ้นนี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์โดยตรงและโดยอ้อม ต่อการพัฒนากิจการ กิจกรรมใด ของผู้วิจัย บุคคล หน่วยงาน มหาวิทยาลัย ชุมชน และสังคมอื่นๆที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟ้อนต์ได้อย่างหลากหลายวัตถุประสงค์ ดังเช่น

1.การนำไปใช้ติดตั้ง (Install) ร่วมใช้โดยตรงเป็นแบบทางเลือกใช้เป็นตัวพิมพ์ของระบบ (Computer System Fonts) ซึ่งใช้ได้ทั้งในระบบปฏิบัติการเครื่องคอมพิวเตอร์ ระบบวินโดวส์(Windows OS) ระบบแมคอินทอช (MAC OS) และระบบลินุกซ์(LINUX OS) โดยผู้ใช้คอมพิวเตอร์ได้ทั่วโลก ด้วยไฟล์ .TTF,OTF และ WOFF โดยได้เผยแพร่ไฟล์ให้ดาวน์โหลดไปใช้งานภายใต้สัญญาอนุญาตได้ที่ Research KM WebSite URL : http://cru-font.blogspot.com http://www.thaifont.info ,http://www.chandrakasem.info ,

2.การใช้เป็นแบบอักษรและตัวพิมพ์ทางเลือกในไฟล์เอกสารใดๆ ระบบใดๆที่ใช้ภาษาไทยและหรือภาษาอังกฤษ เพื่อการผลิตข่าวสาร ตกแต่งเอกสารข้อความหรือสารสนเทศใดๆ ด้วยโปรแกรมประยุกต์ใดๆ ที่ถูกติดตั้งร่วมใช้งานบนโปรแกรมระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ของผู้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ใดๆ(Menu Font) หรือเชื่อมโยงคำสั่งเรียกร่วมใช้งานแบบออนไลน์(Embeded WebFont)ได้จากทั่วโลก

3.องค์กรของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมและกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่งทั่วประเทศ ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันในการใช้ฟ้อนต์ชุดนี้ เพื่อเป็นองค์ประกอบหนึ่งในสื่อทัศน์ (Visual Communication Element) เพื่อการสื่อสารด้วยงานกราฟิกระบบอัตลักษณ์องค์กร ( Corporate Graphic Identity System )นับตั้งแต่ตราสัญลักษณ์ ผลิตภัณฑ์ กิจกรรมการบริการ งานระบบป้าย สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ใดๆ ที่เป็นส่วนเสริมภาพลักษณ์องค์กรให้ได้มาตรฐาน บนพื้นฐานที่มาเดิมของการก่อตั้งสถานศึกษา หลักสูตรปริญญาหรือปรัชญา วิสัยทัศน์ และพันธกิจสืบเนื่องในฐานะ “คนของพระราชา” ร่วมกัน

4.ผลงานสร้างสรรค์อันเป็นฟ้อนต์ลิขสิทธิ์ชุดนี้ เป็นผลงานที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างกว้างขวาง เป็นสื่อกลางตั้งต้น ที่มีผลกระทบต่อการรับรู้ การเรียนรู้ และสร้างอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดเมื่อมีประสบการณ์ร่วมที่เข้าใจความหมายได้ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม เป็นวัฒนธรรมทางภาษา ทางการพิมพ์ เขียน อ่าน ของมนุษย์ เพื่อการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในลักษณะของการสร้างสื่อ การสร้างสรรค์ข้อมูลข่าวสาร ใช้ถ่ายทอด ส่งต่อสารในกิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ฯลฯ ดังที่ปรากฏเห็นการนำไปใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งร่วมในปัจจัยสี่รอบตัวเราเสมอ เป็นสิ่งจำเป็นต้องใช้ในวิถีการดำรงชีพของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย ซึ่งผู้สร้างสรรค์และหรือผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์สามารถถือครองลิขสิทธิ์ได้ยืนยาวร่วม 100 ปี

5.ผู้วิจัยได้นำฟ้อนต์ชุดตระกูลนี้ไปใช้ประโยชน์จริงและมอบเป็นฟ้อนต์ลิขสิทธิ์ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการโอทอป ในเขตจังหวัดชัยนาทและจังหวัดปราจีนบุรี ในการสร้างสรรค์ผลงานออกแบบกราฟิกและบรรจุภัณฑ์ในโครงการวิจัยอันเป็นผลสืบเนื่องต่อมา เป็นโจทย์วิจัยที่เป็นความต้องการของชุมชนในปีถัดมา ทำให้มีผู้ประกอบการในชุมชน ได้สิทธิประโยชน์จากการใช้งานลิขสิทธิ์ฟ้อนต์อย่างถูกต้องตามกฏหมาย สามารถนำไปร่วมใช้งานสื่อสารใช้ในองค์กร ก่อให้เกิดกิจการใหม่ เกิดพัฒนากิจกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ได้ร่วมออกแบบพัฒนา เป็นต้นทุนเพื่อการสร้างแบรนด์ เครื่องหมายทางการค้า ตราสัญลักษณ์ รูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามวัตถุประสงค์ต่างๆ อาทิเช่น 

1. กับการวิจัยเรื่อง การออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าการเกษตรของวิสาหกิจชุมชน จังหวัดชัยนาท เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ ตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (2556) มีผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมโครงการจากทั้ง 8 อำเภอ ได้รับการพัฒนาต้นแบบและไฟล์กราฟิกตราสัญลักษณ์และบรรจุภัณฑ์ จำนวน 16 ราย 16 ผลิตภัณฑ์ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Research KM Site URL: http://chainatotop.blogspot.com

2.การพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์โอทอป แก่ผู้ประกอบการในจังหวัดกาญจนบุรี 2556 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Research KM Site URL: http://kanchanaburiotop.blogspot.com

3. การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ : โครงการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการระดับ SMEs และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเข้าสู่ AEC จังหวัดปราจีนบุรี (2557) มีผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมโครงการจาก 6 อำเภอ ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี ได้รับการพัฒนาศักยภาพ ได้ต้นแบบและไฟล์กราฟิกตราสัญลักษณ์และบรรจุภัณฑ์จริง จำนวน 20 ราย 20 ผลิตภัณฑ์ ได้บรรจุภัณฑ์จริงเพื่อการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ละ 2,000 ชิ้น ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Research KM Site URL: http://prachinburi-aec.blogspot.com

4.การวิจัยเรื่อง การออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จังหวัดชัยนาท ปีงบประมาณแผ่นดิน 2558 โดยมีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 8 ราย ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการวิจัยพัฒนา ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Research KM Site URL: http://chainatbrand.blogspot.com

5.ใช้ในการออกแบบตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏใหม่ทั้ง 40 แห่ง ทั่วประเทศ